ผลงาน อสม. ดีเด่นระดับชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 “กว่าต้นไม้จะเติบโต…กว่าจะเป็น อสม. ดีเด่นระดับชาติ”
5 ส. สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืนแบบบูรณาการ
กิตติพงศ์ ศุภสิริธนรักษ์
ฮานีฟะฮ์ เจะอารง
ขอแสดงความยินดีกับ อสม. ธนพร อิษฎานนท์ ผู้ได้รับรางวัล อสม. ดีเด่นระดับชาติ พ.ศ. 2566 สาขาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยได้นำพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี” นั้น มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย ก่อเกิดเป็นนวัตกรรม “5 ส. สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน” ขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการบริหารจัดการอันประกอบด้วย
5 ส.
- ส.1 สร้างเครือข่าย
- ส.2 สร้างความรัก/สามัคคี
- ส.3 สร้างครัวเรือน/ชุมชนสีขาว
- ส.4 สร้างชุมชน เอื้ออาทร
- ส.4 สร้างภูมิพลังแผ่นดิน
- ส.1 สร้างเครือข่าย ผู้ นำทำดีชุมชนทำตาม กลุ่มผู้นำชุมชนต้องเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน
- ส.2 สร้างความรักความสามัคคี ในชุมชน ชุมชนเข้าใจ เปิดใจยอมรับ ไม่ตีตรา กระบวนการบำบัดโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx)
- ส.3 สร้างครัวเรือนและชุมชนสีขาว สัญลักษณ์แสดงการไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ผ่านบัตรบุคคลสีขาว ธงครัวเรือนสีขาว ป้ายคุ้มสีขาวปลอดยาเสพติด และป้ายชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด
- ส.4 สร้างชุมชนเอื้ออาทร ช่วยเหลือทางสังคม เช่น ดูแลสุขภาพ ให้โอกาสทั้งด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ เป็นต้น
- ส.5 สร้างภูมิพลังแผ่นดิน ต่อต้านยาเสพติด
อสม. ธนพร อิษฎานนท์ ปฏิบัติงาน ณ บ้านคลองคูกลาง หมู่ที่ 1 ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี สังกัดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลักหก 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังมีบทบาททางสังคมในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคลองคูกลาง ประธานกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านคลอง คูกลาง รองประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินอำเภอเมืองปทุมธานี และรองประธานชุมชนยั่งยืนแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร
จากที่มองเห็นปัญหาและผลกระทบจากยาเสพติดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในชุมชน จึงอยากให้ปัญหานี้หมดสิ้นไป เพื่อความสงบสุขของชุมชน โดยส่วนตัว อสม. ธนพร มีครอบครัว ที่อบอุ่น ฐานะพอมีพอใช้ ไม่มีภาระงานที่หนักหน่วง ประกอบกับสมาชิกในครอบครัวยินดีและสนับสนุนในการทำหน้าที่ อสม. อย่างเต็มที่ ที่มาโดยตลอด จึงเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นสร้างคุณประโยชน์ เพื่อชุมชนจนประสบผลสำเร็จในที่สุด
บ้านคลองคูกลาง เป็นสังคมเมืองกึ่งชนบท เป็นที่ตั้งบ้านเรือนและห้องเช่าขนาดเล็ก ประกอบกิจการขนาดเล็กภายในครัวเรือน มีความหนาแน่นของประชากรปานกลาง แต่มีประชากรแสนจรข้ามพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกิดปัญหาคนว่างงานเป็นจำนวนมาก ประกอบกับข้อมูลยืนยันจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 1 พบว่า บ้านคลองคูกลาง มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุก จนเป็นพื้นที่ระดับสีแดง เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นเส้นทางผ่านของยาเสพติด เอื้อโอกาสให้สามารถสร้างรายได้แก่ผู้ค้ารายย่อยและผู้เสพเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย จึงทำให้เกิดปัญหายาเสพติดในชุมชน ภายหลังการประชุมประชาคมหมู่บ้านมีมติให้ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่ต้องการแก้ไข อสม. ธนพร จึงเป็นแกนนำ ประสานหน่วยงาน รพ.สต. หลักหก 2 สถานีตำรวจภูธรปากคลองรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองปทุมธานี กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลหลักหก คณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินหมู่ที่ 1 เพื่อน ๆ อสม. และประชาชน มาร่วมกันจัดทำโครงการสร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านคลองคูกลาง
กระบวนการขับเคลื่อนโครงการสร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนบ้านคลองคูกลาง ประกอบด้วยการใช้นวัตกรรม “5 ส. สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน” ร่วมกับหลักการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm reduction) และการวางระบบดูแลผู้ป่วยยาเสพติดจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) โดยเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพ อสม. ผ่านการอบรมกลไกการดูแลช่วยเหลือผู้เสพผู้ติดและผู้มีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติดในระดับพื้นที่ โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาพ 1 กระบวนการต่อมาคือการออกปฏิบัติงานเชิงรุกให้ความรู้ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยาเสพติดและลงสำรวจพื้นที่คัดกรองประชากรกลุ่มเป้าหมาย 278 คน (100%) พบผู้เสพ 17 คน พร้อมทั้งทำข้อตกลงกับครัวเรือน จำนวน 123 ครัวเรือน (100%) กระบวนการที่สามคือสร้างความเข้าใจในชุมชน มองผู้เสพ = ผู้ป่วย ไม่ตีตรา จึงมีการจัดทำแผนนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx) อย่างสมัครใจ จำนวน 9 ครั้ง ในระยะเวลา 3 เดือน เป็นการดูแลผู้ป่วยใช้สารเสพติดให้เกิดการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้านหรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างทักษะความฉลาดทางอารมณ์ผ่านกิจกรรมสำคัญ ได้แก่
- ทบทวนจิต ให้เกิดความตระหนักในการมีสติรับรู้ความเป็นจริงของชีวิต การแสวงหาความหมายของชีวิต และรู้เท่าทันอารมณ์ความต้องการของตัวเอง ด้วยกิจกรรมสำรวจตัวเอง ประโยชน์ของการรู้จักตนเองแล้วนำเสนอ
- คิดจัดการ ให้ผู้ป่วยใช้สารเสพติดสามารถควบคุมตัวเอง ให้อยู่ในสภาวะปกติ ด้วยกิจกรรมแบ่งกลุ่มสะท้อนความคิด
- สานเป้าหมาย ปลุกเร้าให้มีการกำหนดเป้าหมายในการบำบัดฟื้นฟูมีความยืดหยุ่น มุ่งมั่น มีความหวังในเป้าหมาย และให้กำลังใจข้อคิด ความล้มเหลว คือ ประสบการณ์ด้วยกิจกรรมแบ่งกลุ่มสะท้อนความคิด
- สายใยรัก ทำให้ผู้ป่วยใช้สารเสพติดสามารถรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง เข้าใจความแตกต่างของผู้อื่น สร้างความอบอุ่นในครอบครัวและสังคม ด้วยกิจกรรมนั่งคุยเปิดใจกันภายในครอบครัว กอดสร้างความรักความอบอุ่นทางใจ
- ทักสังคม ให้เกิดการยอมรับในความเป็นธรรมชาติของผู้อื่น สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมรอบข้างได้ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ด้วยกิจกรรมรวมกลุ่มสันทนาการ เช่น ดนตรีบำบัด กีฬาบำบัด ร่วมรับประทานอาหาร เยี่ยมบ้านให้กำลังใจ เป็นต้น
ผลลัพธ์ของโครงการ สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน
เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนบ้านคลองคูกลาง คือ ค้นหาผู้ใช้สารเสพติดได้ 17 คน และได้รับการบำบัดครบ 17 คน ผู้ป่วยติดยาเสพติดลดละเลิกยาเสพติดได้ ผู้ป่วยติดยาเสพติดมีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และบ้านคลองคูกลาง เป็นชุมชนต้นแบบ SMI-V ของจังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายผลให้กับชุมชนใกล้เคียง
หากจะถามถึงปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานนี้ คงจะเป็นการทำงานในชุมชนเมืองกึ่งชนบท การสื่อสารการเข้าถึงประชาชนไม่ง่ายเหมือนเขตชนบท และเป็นพื้นที่ติดเขต กทม. มีประชาชนข้ามพื้นที่จำนวนมากและตลอดเวลา จึงทำให้ชุมชนต้องคอยเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และการสนับสนุนรถในการรับ – ส่งผู้ป่วยติดยาเสพติดจิตเวชกรณีที่ก่อความรุนแรงได้ทันที ถึงอย่างไรก็ตามตลอดการเดินทางบนถนนจิตอาสาของ อสม. ธนพร ย่อมไม่ได้มีแต่ขวากหนาม ในทางกลับกันยังมีดอกไม้ที่สวยงามเบ่งบานตลอดระยะทางเช่นกัน ความสวยงามนั้นคือ การได้เห็นผู้ป่วยติดยาเสพติดลดละเลิกได้สำเร็จมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนเข้มแข็ง มีกระบวนการจัดการตนเองได้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิด แรงสู้ฝ่าพันอุปสรรคทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มาจวบจนปัจจุบัน