ชื่อนวัตกรรม “เปิงบ้านบำบัด”
ประเภทนวัตกรรม นวัตกรรมกระบวนการ (process innovation)
สาขาที่ประกวด สาขาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน
จังหวัด อำนาจเจริญ
อสม.ดีเด่นระดับ ชาติ
ชื่อ นางสาวพูลภัสร์ ภูวงษ์
ที่มาและความสำคัญของการสร้างนวัตกรรม
ด้วยชุมชนหนองทับม้า ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นพื้นที่ ๆ พบจำนวนผู้ใช้สารเสพติดในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น และพบปัญหาผู้ป่วยยาเสพติดคงอยู่ในระบบบำบัดรักษาในโรงพยาบาลลดลง เนื่องด้วยปัญหาการเดินทางไปรับการบำบัดในโรงพยาบาล และโปรแกรมบำบัดที่ได้รับจากทางโรงพยาบาลไม่สอดคล้องกับบริบทของผู้ป่วยแต่ละคนแต่ละชุมชน จึงทำให้บ้านหนองทับม้ายังพบผู้ใช้สารเสพติดและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ป่วยยาเสพติดที่คงอยู่ในระบบบำบัดก็ยังลดน้อยลง อีกทั้งผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านบำบัดรักษายังกลับไปเสพยาซ้ำอีก วนกลับมาจุดเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ประเด็นปัญหายาเสพติดจึงได้ถูกบรรจุให้เป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับ พชอ. ที่ อสม.พูลภัสร ภูวงษ์และคนในชุมชนต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเพื่ออนาคตของลูกหลานและชุมชนบ้านหนองทับม้า จึงเกิดนวัตกรรม “เปิงบ้านบำบัด” จากแนวคิดการใช้เปิงบ้าน (เป็นภาษาอีสาน) หมายถึง ขนบธรรมเนียมประเพณีที่นิยมนับถือกันมานาน บริบททางวัฒนธรรม หรือวิธีปฏิบัติของชุมชนนั้นๆ เช่น พิธีแห่ปู่ตา (การไหว้สักการะ/ให้คำมั่นสัญญาต่อปู่ตา ผู้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนบ้านหนองทับม้า) บุญพระเวส (การฟังเทศน์ ฟังธรรมะ) บุญข้าวกรรม (การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์ภาวนา) เป็นต้น และต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ทุนทางจิตวิญญาณ 2) ทุนทางปัญญา 3) ทุนทางทรัพยากรมนุษย์ 4) ทุนทางทรัพยากรทางธรรมชาติ 5) กองทุนสาธารณของชุมชน ผนวกเข้ากับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (Community Based Treatment and Rehabilitation/ Community Based Treatment and Care: CBTx) รูปแบบการบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชน ด้วยการดำเนินการของชุมชนเอง ภายใต้แนวคิดการวางแผน การออกแบบการกำหนดวิธีการตามศักยภาพและบริบทของชุมชน โดยการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาคีเครือข่ายตามแนวคิดการคืนคนดีสู่สังคม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยประยุกต์ใช้โปรแกรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยสารเสพติดที่มีโรคร่วมทางจิตเวช จิตสังคมบำบัด (matrix program) เป็นกิจกรรมในการบำบัดรักษาในชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นฟูผู้ป่วยที่รับการบำบัดอาการติดยาเสพติดตามรูปแบบจิตสังคมบำบัด มุ่งเน้นการให้องค์ความรู้ที่สำคัญกับผู้ป่วยและครอบครัว ผู้ที่ใกล้ชิด หรือดูแลผู้ป่วยติดยาเสพติดให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการบำบัดอาการติดยาเสพติด ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรง อันตราย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการติดยาเสพติดลงได้เกิดเป็นนวัตกรรมบำบัดในชุมชน “เปิงบ้านบำบัด” รูปแบบการบำบัดและติดตามผลหลังการบำบัดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่สอดคลองกับบริบทวิถีชีวิตของคนในชุมชน ด้วยกิจกรรม 4 กลุ่มบำบัด คือ (1) กลุ่มธรรมมะบำบัด (2) กลุ่มธรรมชาติบำบัด (3) กลุ่มวัฒนธรรมบำบัด และ (4) กลุ่มธรรมาชีพบำบัด โดยดำเนินกิจกรรมบำบัด ในศูนย์บำบัดในชุมชน มีอสม. ผู้นำชุมชน ตำรวจ โรงเรียน โรงพยาบาล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันติดตามดูแลผู้ป่วยยาเสพติด และภาคีเครือข่ายให้การช่วยเหลือสนับสนุน จนสามารถลดจำนวนผู้ใช้
สารเสพติดลงอัตราการคงอยู่ในระบบบำบัดรักษาเพิ่มขึ้น ตลอดจนลดอัตราการเสพซ้ำ ทำให้ผู้ป่วยยาเสพติดสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นการคืนคนดีสู่สังคม
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนารูปแบบการบำบัดและติดตามหลังบำบัดผู้ใช้สารเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
- เพื่อเพิ่มอัตราการคงอยู่ในระบบบำบัดรักษาและระบบติดตามผลการบำบัด
- เพื่อเพิ่มอัตราการไม่กลับไปเสพซ้ำต่อเนื่อง 3 เดือนหลังบำบัด
ขั้นตอนการดำเนินงาน
หลังจาก นวัตกรรม “เปิงบ้านบำบัด” ได้ถูกสร้างขึ้น โดยการคิด ออกแบบ และกำหนดรูปแบบการบำบัดและการติดตามหลังการบำบัดร่วมกันของคนในชุมชนบ้านหนองทับม้า โดยมี อสม.พูลภัสร ภูวงษ์เป็นแกนนำหลักในการคิดค้น ออกแบบ กำหนด และพัฒนารูปแบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จากนั้นจึงได้ มีการจัดตั้งศูนย์บำบัดยาเสพติดในชุมชน ณ สำนักสงฆ์ดอนปู่ตา ชุมชนบ้านหนองทับม้า อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมเพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ และจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพทีมบำบัดและติดตามหลังการบำบัด ประกอบด้วย อสม. ผู้ใหญ่บ้าน พระสงฆ์ ผู้สูงอายุ ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา แกนนำชุมชน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยยาเสพติด โดยมีโรงพยาบาลเสนางคนิคม และอสม.พูลภัสร ภูวงษ์ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และวิชาการ จากนั้นทีมคัดกรอง ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน และ อสม. ซึ่งนำด้วย อสม.พูลภัสร ภูวงษ์จะทำการคัดกรอง ผู้ใช้ยาและสารเสพติดที่มีระดับการติดเป็นผู้ใช้/ผู้เสพยาเสพติด โดยกิจกรรม TO BE NUMBER ONE “ใครติดยายกมือขึ้น และกำหนดวันนัดผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการบำบัดในศูนย์บำบัดในชุมชน กิจกรรมการบำบัด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มบำบัด คือ (1) กลุ่มธรรมมะบำบัด เป็นการฝึกทักษะการเลิกยาระยะเริ่มต้น สัปดาห์ที่ 1 – 4 โดยผู้ป่วยจะเข้ารับการบำบัดด้วยเปิงขอขมาบรรพบุรุษ และเปิงพึ่งพาธรรมะ ได้แก่ การแห่ปู่ตา/ไหว้สักการะให้คำมั่นสัญญาในการเลิกยาการทำความดีการฟังธรรมะ เรื่อง โทษ
และพิษภัยสารเสพติด/พระคุณบิดามารดา/หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา (2) กลุ่มธรรมชาติบำบัด เป็นกิจกรรมเพื่อป้องกันการเสพซ้ำช่วงสัปดาห์ที่ 4 – 14 เปิงบูรณะธรรมชาติได้แก่ กิจกรรมการทำความสะอาดบ้านผู้ป่วย วัด และชุมชน การจัดส่วนหย่อมปลูกต้นไม้ ดอกไม้บริเวณศูนย์บำบัด บ้านผู้ป่วย วัด และชุมชน (3) กลุ่มวัฒนธรรมบำบัด เป็นกิจกรรมครอบครัวศึกษา สัปดาห์ที่ 3 – 15 เปิงวาดหวังร่วมครอบครัว และเปิงเสริมรั้วป้องกัน ได้แก่ กิจกรรมการไหว้ขอขมาพ่อแม่ แจ้งเจตนาในการเลิกยา การรับฟังความรู้คำสอนที่เกี่ยวกับความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีและคำสอน ความรัก ความกตัญญูจากผู้สูงอายุ และปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน และ (4) กลุ่มธรรมาชีพบำบัด เป็นการฝึกอาชีพแก่ผู้เข้ารับการบำบัด ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 – 16 เปิงสร้างฝันอนาคตใหม่ ได้แก่ กิจกรรมการฝึกทำขนม ข้าวต้มมัด ข้าวแตนน้ำแตงโม การทำอาหาร ข้าวจี่ ส้มตำ ลาบ ก้อย การปลูกผักปลอดสารพิษ การฝึกทำของใช้ในครัวเรือน พรมเช็ดเท้า เปล ยาดม และน้ำยาล้างจาน และการฝึกงานฝีมือ ขันหมากเบ็ง กระทง เหรียญโปรยทาน และดอกกุหลาบ ที่ใช้ในงานบุญประเพณีท้องถิ่น โดยผู้เข้ารับการบำบัดจะเข้าร่วมทำกิจกรรมกลุ่มบำบัด จำนวน 16 สัปดาห์ รวม 16 ครั้ง ใน 4 เดือน เมื่อผู้ป่วยฯได้รับการบำบัด ครบตามโปรแกรมแล้ว ทีมบำบัดจะทำการประเมินผลการบำบัด และ นัดผู้ผ่านการบำบัดเข้าร่วมกิจกรรมตามบุญประเพณี 12 เดือน เพื่อการติดตามดูแลหลังการบำบัด โดยใช้ “ปฏิทินและวัฒนธรรมท้องถิ่น” เป็นการใช้กิจกรรมบุญประเพณีในชุมชน 12 เดือน มากำหนดเป็นกิจกรรมในการติดตาม ได้แก่ ๑) เดือนมกราคม งานบุญคูนลาน ผู้ผ่านการบำบัดจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมโดยการร่วมเป็นทีมในการรับลงทะเบียน และนำข้าวไปเทกอง ประดับตกแต่งตามประเพณี ๒) เดือนกุมภาพันธ์ งานบุญข้าวจี่ ผู้ผ่านการบำบัดจะทำหน้าที่ช่วยจัดสถานที่ และทำข้าวจี่เพื่อแจกให้กับคนที่มาร่วมงานประเพณี ๓) เดือนมีนาคม งานบุญพระเวส ผู้ผ่านการบำบัดจะนำของ ที่คนอีสานเรียกว่า กัณฑ์หลอน และกัณฑ์จอบ ไปถวายพระที่วัดในชุมชน ๔) เดือนเมษายน ประเพณีบุญสงกรานต์ ผู้ผ่านการบำบัดเข้าร่วมกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุที่ชุมชนจัดขึ้น และรดน้ำดำหัวผู้ปกครองของตนเอง ๕) เดือนพฤษภาคม งานบุญบั้งไฟ ผู้ผ่านการบำบัดจะเข้าร่วมกิจกรรมแห่บุญบั้งไฟร่วมกับคนในชุมชน ๖) เดือนมิถุนายน ประเพณีบุญชะฮะ ผู้ผ่านการบำบัดจะช่วยชาวบ้านทำ paraphernalia พิธี น้ำดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำ ขันใส่กรวดทราย และฝ้ายผูกแขน มารวมที่ศาลากลางหมู่บ้าน ๗) เดือนกรกฎาคม งานบุญเข้าพรรษา ผู้ผ่านการบำบัดเข้าร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาร่วมกับชุมชน ๘) เดือนสิงหาคม ประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน ผู้ผ่านการบำบัดร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตรที่วัด ๙) เดือนกันยายน งานบุญข้าวสาก ผู้ผ่านการบำบัดช่วยครอบครัวเตรียมอาหาร ของคาวหวาน และหมากพลู เพื่อไปทำบุญที่วัด ๑๐) เดือนตุลาคม ประเพณีทำบุญออกพรรษา โดยผู้ผ่านการบำบัดจะร่วมทำกิจกรรมทำบุญตักบาตรที่วัด ๑๑) เดือนพฤศจิกายน งานบุญกฐิน ผู้ผ่านการบำบัดจะไปช่วยเหลืองาน และร่วมทำบุญกฐิน และ ๑๒) เดือนธันวาคม งานบุญเข้ากรรม ผู้ผ่านการบำบัดจะเข้าร่วมทำกิจกรรมสวดมนต์ภาวนา นั่งสมาธิ และเดินจงกรม ณ สำนักสงฆ์ดอนปู่ตา สถานที่ๆเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนบ้านหนองทับม้า โดยผู้ผ่านการบำบัดจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมทุกเดือน จนครบ 1 ปีซึ่งทีมติดตามซึ่งประกอบด้วย อสม. ผู้นำชุมชน พร้อมกับ ตำรวจ โรงเรียน โรงพยาบาล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะลงชื่อในแบบติดตามผลการบำบัดรักษาฯ เพื่อยืนยันและรับรอง ทุกครั้งที่ผู้เข้ารับการบำบัดเข้าร่วมกิจกรรม
ผลการดำเนินงาน/ประโยชน์ที่ได้รับ
จากการดำเนินงานตามรูปแบบ และนวัตกรรม “เปิงบ้านบำบัด” พบว่า อัตราการคงอยู่ของผู้ป่วยยาเสพติดในระบบบำบัดรักษาและระบบติดตามผลการบำบัดเพิ่มมากขึ้น อัตราการไม่กลับไปเสพซ้ำของผู้ผ่านการบำบัดรักษา ต่อเนื่อง 3 เดือนหลังบำบัด เพิ่มมากขึ้น เกิดบุคคลต้นแบบที่ผ่านการบำบัดยาเสพติด ที่เป็นต้นแบบให้กับเยาวชนและคนในชุมชน เกิดอาสา Staff Addict ที่ทำหน้าที่ช่วยปฏิบัติงาน แชร์ประสบการณ์ และเป็น Role model ให้กับผู้เข้ารับการบำบัดรุ่นต่อๆไป และที่สำคัญครอบครัวและชุมชนได้ลูกหลานกลับคืนคืนคนดีสู่สังคม ชุมชนเป็นสุข เกิดรูปแบบและนวัตกรรมที่ปรากฏชัดเจน ลึกซึ้ง เห็นผลจริง สามารถแก้ไขปัญหาผู้การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดได้ตรงจุด ควรค่าแก่การขยายผลสู่ชุมชนอื่น
ปัจจัยความสำเร็จ
นวัตกรรม “เปิงบ้านบำบัด” เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันคิด ออกแบบ และดำเนินการโดยคนในชุมชน ชุมชนให้ความห่วงใย ใส่ใจ ดูแลผู้เข้ารับการบำบัดเหมือนลูกหลาน มีศูนย์บำบัดในชุมชน คือ สำนักสงฆ์ดอนปู่ตา ซึ่งเป็นสถานที่ๆเป็นที่เคารพ และเป็นจิตวิญญาณของคนในชุมชนบ้านหนองทับม้ามีหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายให้การส่งเสริมสนับสนุน และเป็นพื้นที่ๆมีทีมพี่เลี้ยงที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบำบัดรักษายาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการบำบัดรักษา มีการปรับปรุง พัฒนารูปแบบนวัตกรรม และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่ใช้ในการบำบัดและกิจกรรมติตามดูแลหลังการบำบัด เป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าของผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง มองปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่คน ในชุมชนทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา และมียุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน จึงทำให้การดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดในชุมชนประสบผลสำเร็จ
โอกาสพัฒนา
ปัจจุบัน นวัตกรรม “เปิงบ้านบำบัด” กลายเป็นรูปแบบการบำบัดรักษาและติดตามผู้ป่วยยาเสพติดที่สามารถใช้และดำเนินการได้จริงเป็นรูปธรรม ที่อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญใช้เป็นต้นแบบในการที่มีชุมชนเป็นเจ้าของ ดำเนินการอย่างเข้มแข็งโดยชุมชนอย่างแท้จริง และคาดหวังว่า ต่อไปจะต้องขยายและพัฒนาเครือข่ายดำเนินการไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกตำบล เพื่อรองรับผู้ป่วยยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา เพิ่มกำลังคนที่จะร่วมเป็นทีมให้ครบทุกกลุ่มวัย มีการพัฒนาศักยภาพทีมคัดกรอง ทีมบำบัด และทีมติดตามหลังการบำบัดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง การพัฒนาชุมชนให้เป็นโรงพยาบาล ให้บ้านเป็นเตียง ตามแนวคิดการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) ชุมชนล้อมรักษ์ ให้เกิดความยั่งยืน และสามารถรองรับผู้ปาวยยาเสพติดในพื้นที่ใกล้เคียง และมีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม พัฒนาระบบการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดอย่างยั่งยืน