ชื่อนวัตกรรม กระบวนการบำบัดยาเสพติดโดยวิธี ศาสนบำบัด
ประเภทนวัตกรรม (จำแนกตามเป้าหมาย)
- นวัตกรรมกระบวนการ (process innovation)
สาขาที่ประกวด การจัดการสุขภาพชุมชนในพื้นที่พิเศษชายแดนใต้
จังหวัด สงขลา
อสม.ดีเด่นระดับ ชาติ
ชื่อ นายเจะอุเส็น โต๊ะสา
ที่มาและความสำคัญของการสร้างนวัตกรรม
ชุมชนบางพลีใต้เป็นพื้นที่ในเขตอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศมาเลเซีย มีปัญหายาเสพติดมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน จำนวนผู้ที่ผ่านคัดกรองการใช้ยาเสพติดจากกรมปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอนาทวี พบว่า ต.นาทวี มีจำนวนผู้ใช้สารเสพติด ในปี 2565 จำนวน 19 ราย ปี 2566 จำนวน 22 ราย หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมมือกันแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ระบบบำบัดในโรงพยาบาลโดยการใช้ยา ส่งต่อโรงพยาบาลจิตเวช บำบัดระบบผ่านค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เยาวชนที่เป็นผู้เสพยาเสพติด หลังจากที่ผ่านการบำบัดได้ไม่นาน จะกลับไปมีพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดซ้ำ ข้อมูลในปี 2565-2566 ผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดระบบสมัครใจเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และติดตามโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ พบว่า จากจำนวนผู้ที่ผ่านการบำบัด กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ ภายในระยะเวลา 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 80-90 อสม.เจะอุเส็น โต๊ะสา จึงคิดค้นกระบวนการบำบัดแนวทางใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เสพยาที่สมัครใจในเข้ารับการบำบัด เรียกว่า กระบวนการบำบัดยาเสพติด โดยวิธีศาสนบำบัด เป็นการบำบัดโดยยึดหลักศาสนาอิสลามเน้นการบำบัดทางจิตใจให้ระลึกและสำนึกผิดต่อพระเจ้า เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ นับถือศาสนาอิสลาม
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดผู้ป่วยที่เสพยาเสพติดในระยะผู้ใช้ และผู้เสพ
- เพื่อป้องกันผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดกลับไปเสพซ้ำ
ขั้นตอนการดำเนินงาน
- จัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยคณะกรรมการมัสยิดบางพลีใต้และ อสม.เจะอุเส็น โต๊ะสา เป็นประธานกรรมการ และประชุมคณะคณะทำงาน
- คณะทำงานวางแผนการดำเนินงานรวมกันกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วย ปกครองอำเภอนาทวี โรงพยาบาลนาทวี ศูนย์บริการสาธารณสุข สภ.อำเภอนาทวี และอื่น ๆ
- กำหนดเงื่อนไขการรับบำบัดโดยวิธีศาสนบำบัด
เงื่อนไข
3.1 ต้องผ่านการคัดกรองการใช้สารยาเสพติดจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผลการคัดกรองอยู่ในเกณฑ์ ผู้ใช้ และผู้เสพ เท่านั้น หลักวิชาการในการคัดกรองยาเสพติด คือ ใช้แบบคัดกรองและส่งต่อผุ้ป่วยใช้ยาและสารเสพติดเพื่อการบำบัดรักษา กระทรวงสาธารณสุข (บคก.กสธ.) V.2 มีข้อคำถามจำนวน 6 ข้อ และเกณฑ์ประเมิน 3 ระดับ รายละเอียด ภาคผนวก
3.2 ผู้ที่จะเข้ารับการบำบัดต้องจ่ายค่าอาหารที่อยู่ระหว่างการบำบัด ยกเว้น ได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐหรือเอกชน 3.3 ผู้ที่เข้ารับการบำบัดต้อง สมัครใจ เท่านั้น 3.4 ผู้ที่เข้ารับการบำบัดต้องมาบำบัดและมาพักประจำที่คณะกรรมการจัดเตรียมให้เท่านั้น 4. กระบวนการบำบัด โดยวิธีศาสนบำบัด ดังนี้
ระยะเวลาในการบำบัด 1 เดือน
กิจกรรมการบำบัดใน 2 สัปดาห์แรก ดังนี้
- นั่งสมาธิ ทำจิตให้ว่างเพื่อส่งตรงและระลึกถึงพระเจ้า
- ทำการละหมาด ภาคบังคับ 5 เวลา และภาคสมัครใจเมื่อมีความสุขหรือเมื่อยามมีทุกข์ กังวลใจ เพื่อชำระจิตใจและเป็นการขอบคุณต่อพระองค์
- อ่านดุอา เพื่อขอพร และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ให้มีจิตใจที่เข้มแข็งในการเลิกยา
- ขอสารภาพโทษ(เตาบัต) และขออภัยโทษ ต่อพระองค์
- อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อให้จิตใจไม่ว้าวุ่น และยังเป็นการรวบรวมสมาธิ ให้อยู่ในการปฏิบัติตัว ในแนวทางของพระเจ้า และเป็นการเตือนตัวเองตลอดเวลา
- ถือศีลอดเพื่อสกัดกั้นอารมณ์ ที่ใฝ่ต่ำ เช่น นินทา อิจฉา ริษยา คิดไม่ดีต่อผู้อื่น และยังเป็นการลดกามารมณ์ ของตัวเองได้
กิจกรรมในสัปดาห์ที่ 3 ออกเดินทางไปดะวะ (ธรรมจาริก) เพื่อไปใช้ชีวิต ด้วยการข่มตัวเอง ให้จิตใจและอารมณ์ อยู่ระดับเท่าเทียมกับความเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า
กิจกรรมในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ส่งเสริมอาชีพ และการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างสันติ
หลังจากครบ 1 เดือน ให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดกลับไปใช้ชีวิตในชุมชน และมีการติดตามทุกสัปดาห์ โดยการร่วมตัวที่มัสยิดในวันศุกร์ เนื่องจากวันศุกร์จะเป็นวันที่มุสลิมชายทุกคน ต้องไปร่วมตัวที่มัสยิดเพื่อละหมาดร่วมกัน และฟังบรรยายธรรมจากอีหม่ามมัสยิด ทั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านจะช่วยติดตามผู้ที่บ้านการบำบัดให้ไปร่วมตัวที่มัสยิดด้วย โดยกิจกรรมที่ใช้ในการติดตาม คือ การร่วมพูดคุยให้กำลังใจ และบรรยายศาสนา ร่วมทั้งคัดกรองสารเสพติดโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข